การดำเนินการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย เพื่อให้เด็กได้รับการอบรมเลี้ยงดู ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างเหมาะสม
มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับผู้เลี้ยงดู หรือบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กปฐมวัย
เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของการพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา อย่างสมดุลและเต็มตามศักยภาพ
โดยกำหนดหลักการ ดังนี้
1. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทุกด้านแก่เด็กปฐมวัย อายุระหว่าง 2-5 ปี
2. ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล สภาพชุมชน สังคม และวัฒนธรรมไทย
3. พัฒนาเด็กแบบองค์รวมโดยผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย
4 จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
ระดับชั้นประถมศึกษา ใช้หลักสูตรสถานศึกษา พุทธศักราช 2552 โดยใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
เป็นแนวทางการพัฒนาหลักสูตร จากความเชื่อที่ว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ยึดประโยชน์ที่เกิดกับผู้เรียน
กระบวนการเรียนรู้เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและพัฒนาการทางสมอง
เน้นให้ความสำคัญทั้งความรู้และคุณธรรม การสอน ผู้สอนเป็นผู้คัดสรรกระบวนการเรียนรู้ ออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของผู้เรียน
โดยมีการกำหนดสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะและกระบวนการการเรียนรู้ คุณลักษณะหรือค่านิยม รวมถึงคุณธรรม
จริยธรรมของผู้เรียน เป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ดังนี้ คือ
1. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
2. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
3. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
4. กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
5. กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
6. กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
7. กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
8. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3) เป็นช่วงสุดท้ายของการศึกษาภาคบังคับ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้สำรวจความถนัดและความสนใจของตนเอง
ส่งเสริมการพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตน มีทักษะในการคิดวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์ และคิดแก้ปัญหา มีทักษะในการดำเนินชีวิต
มีทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ ความคิด ความดีงาม
และมีความภูมิใจในความเป็นไทย ใช้เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพหรือการศึกษาต่อ
การจัดเวลาเรียน
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดกรอบโครงสร้างเวลาเรียนขั้นต่ำสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ซึ่งสถานศึกษาสามารถเพิ่มเติมได้ตามความพร้อมและจุดเน้น โดยสามารถปรับให้เหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษาและสภาพของผู้เรียน คือ
ให้จัดเวลาเรียนเป็นรายภาค มีเวลาเรียนวันละไม่เกิน 6 ชั่วโมง คิดน้ำหนักของรายวิชาที่เรียนเป็นหน่วยกิต ใช้เกณฑ์ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน
มีค่าน้ำหนักวิชา เท่ากับ 1 หน่วยกิต (นก.)